เทศกาลและประเพณี

วัตนธรรมและประเพณี



งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย (แปดเป็ง)
          

       ประเพณีนี้แสดงถึงความยึดมั่นในพระพุทธศาสนาและพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะของประชาชน ด้วยการแสดงคารวะต่อพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในครอบครัวและชุมชน มาร่วมสักการะบูชาองค์พระธาตุร่วมกัน พร้อมกับแสดงความยินดีปรีดา ด้วยการแสดงตีกลองหลวง ฟ้อนพื้นเมือง แห่ครัวทานเพื่อนมัสการและสักการะพระบรมธาตุ



งานประเพณีสลากภัต และสลากย้อม
  • สลากภัต 
       ประเพณีสลากภัต เป็นการถวายทานโดยไม่เจาะจงผู้รับ เชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลและยังปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้
       
กำเนิดของประเพณีสลากภัตมีตำนานเล่าขานว่า
       
ในสมัยพุทธกาลมีนางยักษิณีตนหนึ่ง มีนิสัยชอบเบียดเบียนผู้คนอยู่เสมอ แต่ครั้นหลังจากได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยักษ์ตนนี้บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงเปลี่ยนนิสัยมาเป็นยักษ์ผู้โอบอ้อมอารีคอยช่วยเอื้อเฟื้อแบ่งปันผู้อื่น เป็นที่ซาบซึ้งใจแก่ผู้คนทั่วไป พวกเขาจึงนำสิ่งของมาแบ่งปันให้กับนางยักษ์ตนนี้อย่างมากมาย จนนางยักษ์ต้องนำสิ่งของเหล่านั้นมาถวายให้แก่พระภิกษุ-สามเณรอีกทีหนึ่ง ด้วยการทำเป็นสลากให้จับ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรม เนื่องจากข้าวของที่นางยักษ์ได้มาที่มูลค่าสูง-ต่ำ แตกต่างหลากหลายกันออกไป...จนกลายเป็นความเชื่อที่ทำเกิดประเพณีสลากภัตในกาลต่อมา
 ประเพณีสลากภัต หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า ตานก๋วยสลาก หรือมีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นแตกต่างกันไป อาทิ กิ๋นก๋วยสลาก กิ๋นสลาก ตานสลาก ตานข้าวสลาก ประเพณีนี้นิยมปฏิบัติกันในช่วงเดือน 12 เหนือถึงเดือนยี่เหนือ หรือในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมตามเดือนสากลของทุกปี     
       
โดย 1 วัน ก่อนงานพิธีสลากภัตจะเป็นวันดา หรือ วันสุกดิบ ชาวบ้านจะจัดเตรียมข้าวของต่างๆทั้งของกินของใช้มาสำหรับจัดใส่ในก๋วยสลาก
       
ครั้นพอถึงวันงานสลากภัต จะมีการนำก๋วย ที่หมายถึง ตะกร้า หรือ ชะลอม ใส่ข้าวของต่างๆมาทำทานถวาย ร่วมด้วย สลากอื่นๆ เช่น สลากวัว สลากควาย สลากเทวดา รวมไปถึง สลากโชค ที่เป็นการนำเงินและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ เช่น เสื้อผ้า หมอน เสื่อ บุหรี่ เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้งต่างๆ ฯลฯ มาผูกมัดติดกับต้นสลากขนาดย่อมที่มีการตกแต่งอย่างสวยงาม สูงราว 5-6 เมตร



  • สลากย้อม 
       สำหรับที่จังหวัดลำพูนงานสลากภัตประจำจังหวัดของที่นี่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ได้มีการนำประเพณีสลากย้อมที่เริ่มสูญหายมาผนวกรวม เป็นประเพณีสลากภัตและสลากย้อมที่ดำเนินการจัดควบคู่กันไป

       
ประเพณีนี้นอกจากเป็นการถวายทานตามคติความเชื่อของงานสลากภัตแล้ว ยังเป็นการรวมต้นสลากย้อมจากหลากหลายชุมชนมาถวายและจัดงานที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูนก่อนเป็นลำดับแรกของทุกๆปี(นับตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา) หลังจากนั้นจึงจะมีการจัดงานของสลากวัดอื่นๆเรื่อยไปตามการตกลงกันในแต่ละปีว่าวัดใดจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 11 (เดือนเกี๋ยงเหนือ แรม 14 ค่ำ หรือ เดือนเกี๋ยงดับ) 
สลากย้อม เป็นประเพณีที่มีพื้นเพมาจากชาวยอง”(กลุ่มชาติพันธุ์ลื้อจากสิบสองปันนา ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่เมืองยองในพม่า และย้ายมาตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดลำพูนอีกทีหนึ่งเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันมีชาวยองอาศัยอยู่ในลำพูนกว่า 80%)

       
เดิมสลากย้อมเป็นการถวายทานเพื่อเป็นพุทธบูชาของหญิงสาว บางพื้นที่จำเพาะเจาะจงว่าต้องมีอายุ 20 ปีเท่านั้น ขณะที่บางพื้นที่ไม่จำเป็น ขอให้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับอายุ 20 ปี (บวกลบ 2-3 ปี) แต่สิ่งที่เชื่อเหมือนกันก็คือ ต้องเป็นหญิงสาวที่ไม่แต่งงาน โดยเชื่อว่าการถวายสลากย้อมของหญิงสาวจะได้รับอานิสงส์ผลบุญอย่างสูงยิ่งเทียบเท่ากับการบวชของผู้ชาย



งานเทศกาลลำไย

      
        จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดที่การปลูกลำไยมากที่สุด นับตั้งแต่ที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้รับพระราชทานลำไยจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเห็นว่าลำไยมีรสหวานหอม จึงได้นำเมล็ดมอบให้เจ้าน้อยตั๋นปลูกที่สวนบ้านสบแม่ข่า อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เขตติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดลำพูนลำไยที่ปลูกจากเมล็ดที่บ้านเจ้าน้อยตั๋น ได้กลายพันธุ์ทำให้ผลมีรสดีกว่าพันธุ์ดั้งเดิม จึงมีการแพร่พันธุ์ลำไยไปปลูกในที่ต่างๆ รวมทั้งจังหวัดลำพูนด้วย มีการนำไปปลูกที่บ้านหนองช้างคืน ตำบลหนองช้างคืน อำเภอเมืองลำพูน เป็นแห่งแรก เป็นที่มาของลำไยขนาดใหญ่มากต้นหนึ่ง ซึ่งในแต่ละปีออกผลได้เงินหลายหมื่นบาท จึงเรียกกันว่า ลำไยต้นหมื่น นับตั้งแต่นั้นมามีการปลูกลำไยอย่างแพร่หลาย และมีการพัฒนาพันธุ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้น

       เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ลำไยลำพูน ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน จึงได้กำหนดจัดงานเทศกาลลำไย สนับสนุนสินค้าไทย หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ กิจกรรมในงานมีขบวนแห่ลำไยสุดอลังการ และการประกวดธิดาชาวสวนลำไย การประกวดขับร้องเพลงไทยลูกทุ่ง การแข่งขันกินลำไย และสามารถเลือกซื้อลำไยสดและผลิตภัณฑ์จากลำไยนานาชนิด ศูนย์จำหน่ายลำไย พร้อมทั้งสินค้าเกษตรกรรม หัตถกรรมพื้นบ้าน และสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการวิชาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับเรื่องลำไย และการเกษตรอื่นๆ การสาธิตการแปรรูปลำไยและผลิตภัณฑ์ OTOP หลากหลายรูปแบบ เรียกว่าทั้งสนุก อิ่มอร่อย และยังได้ความรู้อีกด้วย ขึ้นชื่อว่าลำไยลำพูนแล้ว ไม่มีคำว่าผิดหวัง ดั่งคำที่ว่า กินลำไย ไปลำพูน



 งานแห่แคร่หลวง ลอยกระทง อำเภอบ้านโฮ่ง
       


       ประเพณีแห่แค่หลวงของจังหวัดลำพูน เป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดลำพูน  โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามในอำเภอบ้านโฮ่ง  ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญ ของอำเภอบ้านโฮ่งที่ว่า 

 ถ้ำหลวงงดงาม ลือนามหอมกระเทียม ลำไยรสเยี่ยม พระเจ้าสะเลียมหวานเลิศล้ำ น้ำตกงามแท้ แค่หลวงงามตา บูชาพระเจ้าตนหลวง บวงสรวง พระบาทสามยอด

        แค่หลวงงามตา หมายถึง ประเพณีการแห่แค่หลวง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน (อาจจะบอกได้ว่ามีแห่งเดียวในโลก) คำว่า แค่ เป็นภาษาพื้นบ้านล้านนาไทย    (ยังไม่มีการควบกล้ำอักษร) มีลักษณะเป็นไม้มัดกำ  ทำมาจากไม้ไผ่จักเป็นซี่ๆหรือไม้อย่างอื่นๆ   ที่สามารถติดๆ  ไฟได้ง่าย เป็นไม้แห้งๆนำมามัดเป็นกำรวมกัน ใหญ่กว่ากำมือเล็กน้อยยาวไม่เกิน ๑ เมตรหรือให้พอดีกับการถือ (คล้ายกับคำว่า แคร่ในพจนานุกรม หมายถึงที่นั่งหรือนอน มัดทำด้วยฟากหรือไม่ไผ่ซี่ๆ  ถักติดกัน ฯลฯ) ประโยชน์ ในการใช้สอยไม้แค่ เนื่องจากล้านนาสมัยโบราณ ไม่มีไฟฉายหรือตะเกียงจึงใช้ไม้แค่จุดไฟให้สว่างเพื่อส่องทางในเวลาค่ำคืน เหมือนไต้ไฟหรือคบเพลิง เมื่อยามเทศกาลลอยกระทงในเดือนยี่เป็ง ก็จะใช้ไม้แค่จุดไฟถวายเป็นพุทธบูชา ในสมัยล้านนาโบราณ ชาวบ้านได้กำหนดให้มีพิธีการ แห่แค่ไปถวายพระสงฆ์ในวัดแล้วจุดถวายเป็นพุทธบูชา ในวันยี่เป็งหรือวันเพ็ญเดือนสิบสอง อันเป็นพิธีหนึ่งในวัดลอยกระทงกล่าวคือ ในตอนเช้าตรู่ของวันยี่เป็ง วัดทุกวัดจะมีการเทศน์มหาชาติ ตอนสายจะมีการทำบุญตักบาตรและในตอนกลางคืน ชาวบ้านจะจัดทำต้นแค่ โดยจะช่วยกัน ประดับตกแต่งด้วยโคมไฟหรือสิ่งต่างๆอย่างสวยงามแล้วตั้งขบวนแห่กันไปถวายพระสงฆ์ในวัดที่ตนศรัทธา ต่อจากนั้นก็จะจุดไฟที่ต้นแค่ให้ลุกสว่างไสวไปทั่วบริเวณวัด เพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว จึงไปลอยกระทงเพื่อบูชาพระแม่คงคาและปล่อยเคราะห์กรรมต่างๆ ให้ล่องลอยไปตามแม่น้ำ เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมายาวนานประเพณีการจุดไม้แค่ก็ได้ถูกลืมเลือนไปในหลายที่หลายแห่ง เพราะได้มีการนำเอาธูปเทียนหรือประทีปมาจุดแทน เนื่องจากหาซื้อได้ง่ายและสะดวกกว่า แต่ชาวอำเภอบ้านโฮ่งได้เล็งเห็นความสำคัญจึงยังคงมีการสืบสาน และอนุรักษ์ประเพณีการจุดแค่เอาไว้ อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูญหายไป ซึ่งกล่าวกันว่าในอดีตกาล วัดดงฤาษี ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่ของ อ.บ้านโฮ่ง มีฤาษีสองตนมาบำเพ็ญพรตอยู่ และความเชื่อกันว่า นอกจากจะจุดแค่เพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังจุดเพื่อบูชาพระฤาษีอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น